วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งานวิจัย 13

จิตวิทยาเด็ก (เด็กกัดเล็บ)

 โดย

 นพ. อนุชาติ มาธนะสารวุฒิ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

จิตวิทยาเด็ก (เด็กกัดเล็บ)

คนที่มีลูกหรือเด็กที่ต้องดูแลตัวเล็กๆอายุสัก 4-5 ขวบ คงเคยเจอปัญหาเด็กชอบกัดเล็บ พวกเราแก้ปัญหานี้อย่างไรครับ?
ก. ตีมือเด็ก พร้อมกับดุด่าๆๆๆๆๆๆ ว่าอย่าทำ เพราะมันสกปรก
ข. ดึงมือเด็กออกจากปาก แล้วคอยเฝ้า เมื่อไรใส่กัดเล็บอีกก็คอยดึงไปเรื่อยๆๆๆๆ
ค. เอาเล็บมือเราให้เด็กช่วยกัดเพิ่มอีกมือหนึ่ง ก็ไหนๆอยากกัดเล็บแล้วนี่ กัดเพิ่มอีกมือเป็นไง (ประชด)
หรือวิธีอีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้กับลูกคนสุดท้องของผม แล้วได้ผลทันที!!!! 
กรณีศึกษา:
     เมื่อ วานซืน ปั้งๆ (ลูกสาวคนที่ 3 อายุ 5 ขวบ) ตะโกนฟ้องผมว่าป่าป้าขา น้องเปียนๆ (ลูกสาวคนเล็ก อายุ 4 ขวบ) กัดเล็บเล่นอีกแล้วค่ะ
      เมื่อได้ยิน ผมก็อุ้มน้องเปียนขึ้นมานั่งข้างๆ (อย่างนุ่มนวล) แล้วจับมือน้องเปียนข้างที่ชอบกัดเล็บยกขึ้นตรงหน้าน้องเปียน หันหลังมือของน้องเปียนเข้าหาตัวน้องเปียน ให้เห็นเล็บที่นิ้วมือทั้งห้า แล้วพูดกับน้องเปียนด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่า

     “น้องเปียนครับ รู้ไหมครับว่าในเล็บของน้องเปียนมันมีตัวแมงที่สกปรกน่าเกลียดตัวเล็กๆซ่อนอยู่ในเล็บ เหมือนกับตัวกิ้งกือไส้เดือนคลานขะหยึก-ขะเหยืออยู่ (เชื้อโรค - พูดเป็นภาษาที่เด็กเข้าใจได้ง่ายโดยการสร้างภาพจินตนาการตามประสบการณ์ที่เด็กเข้าใจได้) มันคอยซ่อนตัวอยู่ พอน้องเปียนกัดเล็บ มันก็จะวิ่งเข้ามาในปากน้องเปียน เข้าไปในท้องน้องเปียน แล้วมันก็จะแบ่งตัวเป็นแมงขะหยึก-ขะหยือน่าเกลียดจำนวนมากมายในท้องของน้องเปียน ทำให้น้องเปียนปวดท้อง ท้องเสีย.....อื๋อ....น่ากลัว น้องเปียนจะให้มันเข้ามาอยู่ในปากในท้องของน้องเปียนไหมล่ะครับ......

     จากนั้นหลังจากนิ่ง...หยุดพูดชั่วครู่...(ให้เด็กได้มีเวลาคิด...จินตนาการภาพตามเรา..เหมือนเราเล่านิทาน) ผมก็จับมือของน้องเปียนขยับเข้าไปใกล้ปากของน้องเปียน แล้วพูดขึ้นมาว่า
เอาเลยครับน้องเปียน...ตัวแมงมันรอยู่ในเล็บมือน้องเปียนแล้ว ให้มันเข้ามาอยู่ในปากน้องเปียนเลยไหมครับ....เอาเลยครับ...เอาเลย...กัดเลย...
     น้องเปียนรีบผลักมือของตัวเองที่ผมจับออกห่างจากปากของเธอทันที พร้อมกับพูดว่า ไม่เอาค่ะ...ไม่เอา...น้องเปียนไม่เอา
     ผมยังคงจับมือน้องเปียนขยับเข้าไปไกล้ปากน้องเปียนอีกครั้ง พูดอีกว่าเอาน่า ลองดูซักหน่อย...น้องเปียนก็ยิ่งผลักมือออกห่างพร้อมกับดึงมือกลับไปซ่อนทันทีแล้วพูดว่าไม่เอาค่ะไม่เอา น้องเปียนไม่อยากเอา
     ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นไม่ถึง 5 นาที ตั้งแต่นั้นมา....ผมสังเกตติดตามดูก็ไม่เห็นน้องเปียนกัดเล็บอีกเลย
อธิบาย:
ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักจะห้ามเด็กโดยบอกในสิ่งที่เด็กไม่เข้าใจ เช่นสกปรก อย่ากัดเล็บเด็กไม่เข้าใจว่า สกปรกมันมี ความหมาย ว่าอะไร สำคัญแค่ไหน เขาจึงไม่สนใจ ดังจะเห็นว่าเด็กสามารถเล่นกับสิ่งสกปรกต่างๆมากมาย โดยไม่เดือดร้อน เราต้องพูดภาษาที่เด็กเข้าใจด้วยการสร้างภาพจินตนาการที่เด็กคุ้นเคย เช่นตัวแมงที่เหมือนกับตัวกิ้งกือไส้เดือนคลานขะหยึก-ขะเหยือ
เด็กมี จินตนาการที่สูงส่งและมีพลังที่เหนือกว่าผู้ใหญ่่ทั่วไปจะเข้าใจได้ ดังจะสังเกตเห็นได้ว่าเขาสามารถเล่นกับอะไรก็ได้โดยจินตนาการเป็นสิ่งต่างๆรวมทั้งชอบฟังนิทานที่มีจินตนาการ แต่ผู้ใหญ่มักจะชอบเล่นอะไรที่เป็น เหมือนของจริงๆดังนั้นหากเราพูดกับเด็กโดยให้เด็กจินตนาการ เด็กจะ เข้าใจและ เห็นจริงเห็นจังเหมือนดังตัวอย่างที่แสดงข้างต้น
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ทั่วไปที่ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุเพราะเขาอยากรู้อยากเห็น หากเราได้แต่ ห้ามๆๆๆๆจะเห็นได้ว่าเด็กก็มักจะขัดคำสั่ง เพราะสิ่งที่ถูกห้ามมันดูหอมหวาน น่าค้นคว้า น่าตรวจสอบ ดังนั้นก่อนจะห้ามเราต้องให้เขา เข้าใจ โดยใช้จินตนาการตามที่เขาถนัดอีกทั้งยิ่งเราลอง ยุให้ทำโดยบอกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ สิ่งไม่ดีที่เขาไม่ชอบ เขาก็จะเลือกที่จะไม่ทำด้วยความเต็มใจ


สรุป:
พยายามพูดโดยใช้ภาษาที่เด็กเข้าใจ โดยใช้ จินตนาการที่เด็กเข้าใจได้ง่ายมาอธิบาย
สอนเด็กเหมือน เล่านิทานไม่เคร่งเครียด ไม่ก้าวร้าว เด็กเมื่อผ่อนคลายจะเรียนรู้ได้ดีกว่า
เมื่อเด็กเข้าใจแล้ว ลองทดสอบผลโดยแกล้งท้าทายให้เด็กทดลองทำ” (ไม่ได้ให้เด็กทำจริงๆ) ซึ่งพอถึงตอนนี้ เด็กหากเข้าใจ เขาจะตัดสินใจที่จะไม่ทำอย่างเต็มใจเพราะเขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ เขาเลือกเองแล้วเขาจะจดจำไปตลอด เพราะการจดจำโดยใช้จินตนาการเป็นภาพนั้นจะจำได้ง่ายและทนนานกว่าคำพูดธรรมดา และทุกครั้งที่เขาทำท่าจะกัดเล็บอีก ภาพในจินตนาการที่เราได้โปรแกรมจิต ว่ามี ตัวแมงน่าเกลียดอยู่ในจิตใต้สำนึกเด็กจะผุดขึ้นมา เขาจะปฏิเสธที่จะกัดเล็บทันที



                                                                                                                             
                                                                                                                 
            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น